วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พุทธศิลป์ ของพระสมเด็จ

การศึกษาด้านพุทธศิลป์ได้แก่ การศึกษาเรื่องพิมพ์ทรง ขนาด รูปร่าง ความงาม หรือสกุลช่าง กล่าวกันว่า พระพิมพ์ของสมเด็จโตนั้น มีจำนวนหลายพิมพ์ หลายเนื้อ หลายขนาด หลายสภาพตั้งแต่เก่าสุดจนถึงใหม่สุด โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านแล้ว พระพิมพ์ของท่านได้รับการพัฒนาสูงสุด ทั้งด้านเนื้อหามวลสาร และความงาม ความสมบูรณ์ จากฝีมือของช่างหลวงหลายคน ฉะนั้น พระพิมพ์เนื้อผงของสมเด็จโตที่เป็นที่นิยมและถือเป็นสุดยอดจักรพรรดิแห่งพระเครื่องนั้น จึงเป็นพระที่สร้างขึ้นในช่วงปลายของท่าน (พ.ศ. 2412-2415) การศึกษาด้านพุทธศิลป์ อาจเริ่มต้นดูที่ลักษณะของพระคือ ขนาด รูปร่าง และสัดส่วน พระสมเด็จวัดระฆังที่เป็นที่นิยมทุกพิมพ์ จะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่โบราณนิยมเรียกว่า “สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก” รูปสี่เหลี่ยมนี้ นับว่าเป็นสัดส่วนที่มีความงามทางด้านศิลปะ

สัดส่วน (Proportion) เป็นกฎของเอกภาพที่เกี่ยวข้องกับความสมส่วนซึ่งกันและกันของขนาด (Dimensions) ความงามของสุนทรียภาพในองค์พระสมเด็จฯนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสัดส่วนสัมพันธ์ภายในองค์ประกอบมีความเหมาะสม ลงตัว จะเห็นได้ว่า ช่างปฏิมากรได้รังสรรค์องค์พระสมเด็จออกมานับว่ามีรูปร่างสัดส่วนงดงามยิ่ง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ผู้เป็นช่างหลวงน่าจะมีความรู้ดีในเรื่อง “สัดส่วนทอง” หรือ โกลเดน เซคชั่น (Golden Section) คือ กฎของสัดส่วนกฎหนึ่งที่ชาวกรีกได้สร้างขึ้นมา เพื่อความงามในการเขียนภาพและการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเมื่อหลายพันปี และยังใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของเฟรมผ้าใบสำหรับวาดภาพ กระดาษขนาดต่างๆ สมุด หนังสือ จอทีวี จอมอนิเตอร์ ช่องหน้าต่าง ภาพถ่าย และอีกมากมายเป็นต้น สัดส่วนทองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 3 ส่วน ยาว 4 ส่วน จะย่อหรือขยายให้ได้ขนาดเท่าใดก็ได้ และเมื่อนำเอาสัดส่วนทองมาเทียบกับสัดส่วนของพระสมเด็จแล้ว จะมีความพอดีกันดังภาพ



อย่างไรก็ตาม พระพิมพ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างขึ้นนั้น เป็นการย่อเอาพระพุทธศาสนาลงบรรจุไว้ในแบบพระพิมพ์ของท่าน นับเป็นรูปแบบเฉพาะที่สมเด็จโตคิดขึ้นเป็นองค์แรก พุทธศิลป์ที่สมเด็จโตนิยมนำมาเป็นแบบในการสร้างพระพิมพ์ของท่านนั้น กล่าวกันว่า เลียนแบบมาจากลักษณะของพระพุทธรูปที่สำคัญได้แก่ พระพิมพ์ใหญ่ทรงประธาน เลียนพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย พิมพ์ทรงเจดีย์ เลียนพุทธศิลป์สมัยเชียงแสน พิมพ์ทรงอกร่อง หูยาน เลียนพุทธศิลป์สมัยอู่ทอง เป็นต้น โดยเฉพาะพระประธานเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ ที่สถิตอยู่ในพระอุโบสถวัดระฆังนั้น ถือเป็นต้นแบบที่สมเด็จโตนำมาสร้างเป็นพระพิมพ์ของท่านมากที่สุด เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามยิ่ง ดังที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯใกล้ชิดว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที” (คณะกรรมการโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. 2542:21) ซึ่งลักษณะของพุทธศิลป์ในพระพุทธรูปนั้น เป็นการจำลองแทนพระวรกายของพระพุทธเจ้า ด้วยการลดทอนลักษณะเหมือนจริง ดังที่จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (2550:บรรยาย) ได้อธิบายไว้ว่า 1) พระพุทธรูปต้องสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธปัญญา ที่มีปัญญาเป็นเลิศ จะแตกต่างจากเทวรูปที่แสดงถึงไสยเวท (ปัญญามืด) 2) พระพุทธรูปต้องถูกต้องตามมหาบุรุษ 82 ประการ 3) พระพุทธรูปจะต้องไม่มีรูปลักษณ์เหมือนผู้ใดผู้หนึ่งหรือมนุษย์คนหนึ่งคนใด 4) พระพุทธรูปเห็นแล้วต้องรู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า 5) พระพุทธเจ้าไม่แสดงเพศและวัย 6) ต้องเป็นรูปที่เรียบง่าย ผิวตึง ไม่มีเส้นเอ็น และปุ่มกระดูก จากคำอธิบายดังกล่าว น่าจะเป็นคตินิยมที่สมเด็จโตและช่างปฏิมากรรมนำมาพัฒนาลักษณะของพระพุทธเจ้าในพระพิมพ์ ให้มีลักษณะที่ลดทอนความเหมือนจริงมากกว่าพระพุทธรูปลงไปอีก เนื่องจากขนาดขององค์พระพิมพ์นั้น มีขนาดเล็กและยากแก่การแกะพิมพ์อีกด้วย


นอกจากนั้น ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (2550: 92) ได้อธิบายความหมายที่ปรากฏอยู่ในพุทธศิลป์หรือรูปลักษณะพระพิมพ์สมเด็จ ดังนี้
1) รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า หมายถึง พื้นแผ่นดินที่ทรงอริยสัจจ์อยู่
2) วงโค้งในรูปสี่เหลี่ยม หมายถึง อวิชชาที่คลุมพิภพอยู่
3) รูปสามเหลี่ยมในวงโค้ง หมายถึง พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้พบแล้วซึ่งพระอริยสัจจ์
4) รูปพระนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ หมายถึง พระพุทธเจ้า ปางตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โพธิบัลลังก์
5) ฐาน 3 ชั้น หมายถึงพระไตรปิฎก ฐาน 7 ชั้น หมายถึงอปนิหานิยธรรม ฐาน 9 ชั้น หมายถึงมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1

นอกจากนั้น มีบางท่านบอกว่า เส้นซุ้มเรือนแก้วนั้น อาจได้แนวความคิดมาจากครอบแก้ว ซึ่งเพิ่งจะมีครอบแก้วครอบพระบูชาประจำวัดในขณะนั้น ซึ่งจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (2550: บรรยาย) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเส้นซุ้มดังกล่าวว่า การที่รูปพระพุทธเจ้าอยู่ภายในเส้นซุ้มนั้น น่าจะทำให้พลังพุทธานุภาพเคลื่อนไหวอยู่ภายในองค์พระด้วย

ขอขอบคุณ ข้อมูล ที่มา:https://thamasenapakdee.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น: