วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จ ลงรัก

พระสมเด็จ ลงรักที่มีความแตกต่างจากทั่วไป มีแตกลายงา อีกแบบ นำมาศึกษาเรียนรู้


ครู “ตรียัมปวาย” อธิบายไว้ว่า การแตกลายงา เป็นลวดลายธรรมชาติของเนื้อพระสมเด็จ ซึ่งเป็นเนื้อปูนปั้น และจัดเป็นสุนทรียะทางเนื้อ ที่มีคุณค่ามาก และปรากฏเป็นส่วนน้อย

สำหรับเนื้อที่ผ่านการลงรักเก่ามาแล้ว และปรากฏเฉพาะของวัดระฆังเท่านั้น

มูลกรณีการแตกลายงา เกี่ยวพันกับปัจจัย 5 ประการ

1.การลงรักเก่า ให้ถือเป็นกฎตายตัว การแตกลายงา จะเกิดขึ้นเฉพาะเนื้อที่ผ่านการลงรักเก่ามาแล้ว เหตุที่เกิดลายงาอย่างจัด เพราะรักดำมีสัณฐานหนากว่ารักน้ำเกลี้ยง เนื้อรักแน่นเหนียวกว่า จับเนื้อพระแน่นหนา ในขณะที่เนื้อพระยังไม่แห้งสนิท ทำให้ฟองอากาศคายตัวออกมาได้ยากกว่า ปฏิกิริยาแรงดันภายในจึงมากกว่า

2.ปฏิกิริยาภายใน ในโอกาสที่เนื้อพระยังไม่แห้งสนิทนั้น ผิวภายนอกย่อมจะแข็งตัวใกล้จะแห้ง แต่ภายในยังมีความชื้น รวมทั้งน้ำและน้ำมันตังอิ๊ว เป็นตัวถ่วงให้แห้งช้า ดังนั้น การที่เนื้อถูกลงรัก โดยที่เนื้อรักมีความแน่นทึบและแห้งช้ามาก เนื้อพระดูดซึมส่วนที่เป็นน้ำของรักเข้าไว้อีก ฟองอากาศจากปฏิกิริยาปูนเดือดภายในเนื้อ หาทางระเหิดออกมาไม่ถนัด เนื่องจากมีรักมาฉาบยาผิวเนื้อ จึงทำให้เกิดแรงดันภายในเนื้อ เป็นผลให้เกิดรอยร้าวเป็นเกล็ดๆ ตลอดบริเวณผิวเนื้อด้านหน้า คือการแตกลายงา

3.การยุบตัวของเนื้อ ขณะเนื้อยุบตัวควบแน่น เพื่อการแห้งสนิท หลังละอองความชื้นคายตัว พร้อมกับการเกิดแรงดันภายใน ขณะที่เนื้อรักที่ฉาบผิวเนื้อ ก็มีอัตราการยุบตัวแห้งเหมือนเนื้อ แต่ใช้เวลามากกว่า จึงทำให้เกิดแรงดึงในทิศทางต่างๆ

4.ความแกร่งของเนื้อ ส่วนผสมเนื้อที่เป็นปูนขาว เป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาปูนเดือดกับน้ำ เป็นมวลสารที่ทำให้เกิดการยุบตัวมากหรือน้อย ถ้าเป็นเนื้อแก่ปูนขาว จะเกิดปฏิกิริยาปูนเดือดรุนแรง การยุบตัวเมื่อแห้งสนิทก็มีมาก ทั้งสองกรณีทำให้เกิดการแตกลายงาอย่างจัด ดังนั้น พระเนื้อปูนแกร่ง เนื้อขนมตุ้บตั้บ ที่ผ่านการลงรักเก่าน้ำดำ ย่อมจะแตกลายงาอย่างจัดที่สุด แต่ถ้าเนื้อปูนนุ่ม มีส่วนผสมปูนขาวน้อย แม้จะลงรักเก่าน้ำดำ ก็จะแตกลายงาอย่างอ่อน และถ้าลงรักน้ำเกลี้ยง ก็เพียงคล้ายจะแตกลายงา เห็นเป็นลายตื้นๆรางๆ คล้ายลายนกไข่ปรอด

5.เป็นกฎอีกข้อหนึ่ง การแตกลายงา จะเกิดขึ้นเฉพาะด้านหน้า...สำหรับด้านหลังจะไม่ปรากฏลายงาเป็นอันขาด ครูตรียัมปวายอธิบายย้ำ...


ปกติการวางพระ จะต้องหงายด้านหน้า ผิวพื้นด้านหน้าจึงถูกแรงดันภายใน ในขณะที่ด้านหลัง ไม่ได้รับแรงดันนั้น การแตกลายงาจึงไม่เกิด แต่กฎนี้...คนละเรื่องกับกรณี “ริ้วระแหง” ด้านหลัง ที่เป็นปฏิกิริยาจากการผสมเนื้อกับน้ำมัน...ไม่พอดี เป็นกรณีที่คล้ายกับ “การแตกสังกะโลก” ที่ด้านหน้า การแตกสังกะโลก รอยแตกไม่มีเนื้อรักเข้าไปแทรก...ต่างจากการแตกลายงา เนื้อรักจะเข้าไปแทรกไล้อยู่ในทุกริ้วรอย ทบทวนหลักครู...ส่องไป คิดไป ทำความเข้าใจ ไม่ช้าปัญญาจะเกิดตามมา บุญมาวาสนามี พระสมเด็จวัดระฆัง ไม่ว่าเนื้อแตกลายงา หรือไม่แตกลายงา ท่านอาจจะมาโปรดถึงมือสักองค์.

พลายชุมพล:https://www.thairath.co.th/content/761252

ไม่มีความคิดเห็น: