วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อเกสรดอกไม้

บันทึกตำนานโดย “ตรียัมปวาย”
จากหนังสือ “พระสมเด็จฯ ตำราพิจารณาพระสมเด็จฯ เล่มแรกของประเทศไทย”

ภาพที่ 1.พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อเกสรดอกไม้ ด้านหน้า

หน้า 418 กล่าวถึง เนื้อเกสรดอกไม้ เนื้อประเภทนี้มิได้หมายความว่า เป็นเนื้อที่สร้างด้วยผงเกสรดอกไม้ล้วนๆ หากมีความหมายแต่เพียงว่าเป็นเนื้อที่กอปรด้วยอนุภาคมวลสารอันละเอียดนุ่มนวล อุปมาดั่งมวลเกสรบุปผชาตินานาพรรณ ฉะนั้น จึงมีนามว่า “เนื้อเกสรดอกไม้” เป็นเนื้อที่มีปรากฏเฉพาะของวัดระฆัง ฯ เท่านั้น รายการของเนื้อ มีดังต่อไปนี้ :–

ภาพที่ 2.พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อเกสรดอกไม้ ด้านหลัง

1 ) ความละเอียด วัสดุมวลสารส่วนใหญ่จะมีความละเอียดอย่างที่สุดดุจอนุภาคของผงเภสัชกรอันละเอียดยิบผ่านการบดกรองมาแล้ว ฉะนั้น จากการทดสอบทางจักษุสัมผัสจะปรากฏว่า มวลสารละเอียดเป็นจุลธุลี คลุกเคล้าสมานกันและกระจายไปโดยตลอดเนื้อหา ไม่แยกกันเป็นหย่อมๆ วรรณะหม่นคล้ำต่างกัน ซึ่งตัดกับวรรณะส่วนรวม นอกจากเยื่อครีมของเนื้อว่านและกล้วยวรรณะหม่นๆ ซึ่งแทรกคละระคนอยู่ในมวลสาร และเมล็ดปูนขาวกลมๆ เท่าหัวเข็มหมุดย่อมๆ วรรณะขาวใสกว่าวรรณะส่วนรวมของเนื้อประปรายอย่างบางตา แต่ถ้ามีผิวแป้งโรยพิมพ์ก็จะบดบังเมล็ดปูนขาวเหล่านี้เสียเป็นส่วนมาก

ภาพที่ 3. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อเกสรดอกไม้ ด้านหน้า

2 ) ความนุ่ม เนื่องจากเนื้อมีความละเอียดจัดและส่วนผสมของปูนขาวน้อย จึงมีความนุ่มจัดด้วย การทดสอบทางจักษุสัมผัสจะทราบว่าเป็นความนุ่มที่มีแต่กำเนิดและฉาบอยู่โดยทั่วไปของพื้นผิวเนื้ออีกทั้งโผฏฐัพพสัมผัสจะทราบถึงความนุ่มนวลดั่งเนื้อสีผึ้ง
3 ) ความหนึก เป็นลักษณะของความหนึกอย่างจัด ซึ่งทาบได้ทั้งจักษุสัมผัสและโสตสัมผัสคือ เสียงกระทบหนักแน่นและเข้ม ไม่สูงแหลมกังวานสดใสเท่าประเภทเนื้อหนักแกร่ง แต่โดยมากองค์ที่มีเนื้อประเภทนี้ มักจะมีสัณฐานค่อนข้างบางกระแสเสียงจึงไม่แน่นทึบทีเดียวและมีความพลิ้วไหวถี่พอสมควร ทันกับการขยับนิ้วมือ

ภาพที่4.พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อเกสรดอกไม้ ด้านหลัง

4 ) ผิวแป้งโรยพิมพ์ จัดเป็นมูลลักษณะประจำของเนื้อประเภทนี้ทีเดียว นอกจากเป็นเนื้อที่ผ่านการใช้ให้สัมผัสเหงื่อไคลมามากแล้ว แต่ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อีก เป็นเนื้อที่เหมาะแก่กรรมวิธีความแห้งบริสุทธิ์มาก
5 ) ความฉ่ำ ปกติเป็นนื้อประเภทที่มีความฉ่ำจัด และถ้าเป็นองค์ที่ผ่านการใช้จนผิวเนื้อรับสัมผัสราบเรียบก็เหมาะสำหรับกรรมวิธีเงาสว่าง หรือจะใช้กรรมวิธีความแห้งบริสุทธิ์ ก็ได้ทั้ง ๒ ประการ
6 ) ความซึ้ง เป็นความซึ้งที่เกิดจากความละเอียดนุ่มนวลของเนื้อหรือแป้งโรยพิมพ์ ซึ่งมิใช่ความซึ้งอันเกิดจากการเรียงตัวในการสึกของอนุภาคมวลสาร

ภาพที่ 5 พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อเกสรดอกไม้ ด้านหน้า

ภาพที่ 6. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อเกสรดอกไม้ ด้านหลัง

หน้า 390 กล่าวถึง มงคลวัตถุเกสรดอกไม้ เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่องฯ ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริกหรือโกมุท (บัวขาวหรือบัวเถื่อน) นิโลบล (บัวเขียว) สัตตบงกช (บัวแดง) สัตตบรรณ (บัวขาบ) และปัทมะ (บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกจากนั้นเป็นเกสรบุปผชาติที่เป็นมงคลต่างๆ คือ พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค โยกะทา (คัดเค้า) และรักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ จัดว่าเป็นมงคลวัสดุ ทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งความนุ่มและความซึ้งของเนื้อเช่นเดียวกับผงวิเศษทั้งห้า

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อว่านมงคล 108

เนื้อว่าน 108 เป็นเนื้อหัวว่านป่านานาชนิด ซึ่งโบราณถือว่ามีคุณภาพมหัศจรรย์ตามธรรมชาติ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงูหนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง และสบู่เลือด เป็นต้น นอกจากจะเป็นอิทธิวัสดุแล้ว เนื้อว่านยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการที่ช่วยให้เนื้อพระมีความนุ่ม



 จากหนังสือ ” พระสมเด็จฯ ตำราพิจารณาพระสมเด็จฯ เล่มแรกของประเทศไทย ”
 ตรียัมปวาย หน้า 390 , 418

ที่มาบทความ
http://postchong.org/

ไม่มีความคิดเห็น: