พระครูธรรมานุกูล หรือ หลวงปู่ภู เกิด ณ หมู่บ้านวังหิน อ.เมือง จ.ตาก เมื่อปี พ.ศ.2373 ตรงกับปีขาล โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายคง- นางอยู่ อายุได้ 9 ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าคอย ศึกษาอักขระสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทย กับ พระอาจารย์คำ วัดท่าแค พออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดท่าคอย มี พระอาจารย์อ้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "จนฺทสโร" ในสมัยที่หลวงปู่ภูเดินธุดงค์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก ท่านได้มาปักกลดอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งวังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย) บริเวณชายแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสมัยนั้นบริเวณนั้นยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่า ต่อมาได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศฯ แล้วย้ายไปจำพรรษาที่วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ตามลำดับ ในปี พ.ศ.2432 ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดอินทาราม สมัยนั้นชื่อว่า “วัดบางขุนพรหมนอก” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอินทรวิหาร” และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2434
หลวงปู่ภู นับว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รูปหนึ่ง เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จัดสร้างพระเครื่องที่วัดบางขุนพรหม ก็ได้มาพักอยู่กับหลวงปู่ภู และได้สร้าง ‘พระศรีอาริยเมตไตรย์ (พระหลวงพ่อโต)’ ไว้ที่วัดอินทร์แห่งนี้ โดยมี หลวงปู่ภู เป็นกำลังสำคัญ แต่สร้างได้เพียงครึ่งองค์ก็มรณภาพลง พระเครื่องที่หลวงปู่ภูสร้างนั้น เข้าใจว่าสร้างไว้ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2463 เรื่อยมา โดยวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างก็เพื่อหาปัจจัยบูรณปฏิสังขรณ์ หลวงพ่อโต วัดอินทร์ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ จนแล้วเสร็จ เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2476 สิริอายุ 103 ปี 83 พรรษา
เนื้อหามวลสารในการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลของหลวงปู่ภูนั้น ท่านได้นำมวลสารผงวิเศษ 5 ประการ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาเป็นส่วนผสมในการสร้าง พระสมเด็จที่ท่านสร้างในยุคต้นๆ นั้น เนื้อหาจะดูจัดหนึกนุ่มคล้ายเนื้อพระสมเด็จของวัดระฆังฯ มาก และโดยส่วนใหญ่จะมีความหนาเป็นพิเศษ ในปีต่อๆ มาท่านก็ได้จัดสร้างเรื่อยมาจวบจนท่านมรณภาพ จำนวนพระที่ท่านสร้างจึงมีมากมายหลายพิมพ์ทรง มีอาทิ พิมพ์แซยิดแขนกลม, พิมพ์แซยิดแขนหักศอก, พิมพ์เจ็ดชั้น, พิมพ์หูติ่ง, พิมพ์แปดชั้นแขนหักศอก, พิมพ์แปดชั้นแขนกลม, พิมพ์สามชั้นหูบายศรี, พิมพ์ลีลา, พิมพ์ปิดตา, พิมพ์สังกัจจายน์ ทั้งแบบข้างเม็ดและพิมพ์ห้าเหลี่ยม, พิมพ์ไสยาสน์ และ พิมพ์ห้าเหลี่ยม เป็นต้น
พระสมเด็จหลวงปู่ภู ที่ได้รับความนิยมมากๆ และมีสนนราคาสูงก็คือ พิมพ์แซยิดแขนกลม และ พิมพ์แซยิดแขนหักศอก ที่สมบูรณ์จริงๆ อยู่ที่หลักแสนทีเดียว ส่วนพิมพ์อื่นๆ ก็นิยมรองลงมา อาทิ พิมพ์แปดชั้นแขนหักศอก และพิมพ์แปดชั้นแขนกลม จะอยู่ที่หลักหมื่นปลายๆ ถึงแสน นอกจากนั้นก็จะย่อมเยากว่าในหลักหมื่นต้นๆ ถึงหมื่นปลายๆ
พระพิมพ์ ๘ ชั้น แขนหักศอก หลวงปู่ภู
“พระสมเด็จหลวงปู่ภู” นับเป็นพระที่น่าบูชาอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันหายากพอสมควร โดยเฉพาะ พิมพ์แซยิดแขนกลม และ พิมพ์แซยิดแขนหักศอก
พระสมเด็จหลวงปู่ภู พิมพ์สามชั้นพิมพ์โย้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น