วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การศึกษาธรรมชาติ (Amulet nature) ของพระสมเด็จวัดระฆัง

การศึกษาธรรมชาติ (Amulet nature) ของพระสมเด็จวัดระฆังนั้น หมายถึงการศึกษาเรื่องความเก่า ความเป็นธรรมชาติในองค์พระ พระที่ยังไม่ผ่านการใช้ (เก่าเพราะการเก็บ) หรือ Original กับพระที่ผ่านการใช้แล้ว (เก่าเพราะการใช้) หรือ Modify มาแล้ว จะมีความแตกต่างกันพอสมควรกล่าวคือ พระที่ยังไม่ผ่านการใช้มักจะมีลักษณะที่สมบูรณ์คมชัด แต่เนื้อและผิวจะดูสดเหมือนใหม่ จึงทำให้ดูยากกว่า เนื่องจากผิวขององค์พระยังไม่ถูกเปิดให้เห็นเม็ดมวลสารที่อยู่ภายใน ซึ่งผิวบน (Surface) ขององค์พระจะปรากฏเป็นแผ่นฟิล์มบางๆของน้ำมันตังอิ้ว ซึ่งมีลักษณะสีเหลืองหรือน้ำตาลคลุมทับองค์พระ ธรรมชาติของน้ำมันตังอิ้วที่ผุดขึ้นมาเหนือผิวพระนั้น ต้องใช้เวลามากกว่าร้อยปี ส่วนพระที่ผ่านการใช้แล้ว จะดูง่ายกว่า อีกทั้งผิวพระจะถูกเปิดออกให้เห็นเม็ดมวลสารและส่วนผสมที่อยู่ในเนื้อพระมากขึ้น ผิวที่ถูกจับถูกลูบทำให้คราบน้ำมันตังอิ้วหลุดออกไป และทำให้เนื้อพระถูกปฏิกิริยาของเหงื่อที่มีทั้งความเค็มและเปรี้ยว จึงทำให้สีผิวของพระเปลี่ยนไป และทำให้เนื้อพระมีความหนึกนุ่ม บางองค์เนื้ออาจฟูขึ้น การเกาะของน้ำมันตังอิ้วที่ผุดขึ้นมาเหนือผิวองค์พระนั้น จากการสังเกตในชิ้นพระที่แตก จะเห็นผลึกสีน้ำตาลกินเข้าไปในเนื้อพระประมาณเกือบ 1 มิลลิเมตร ส่วนน้ำหนักของพระจะมีความพอดีกับน้ำหนักมือ และขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาขององค์พระด้วย

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ พระสมเด็จวัดระฆังทุกพิมพ์จะมีกลิ่นแตกต่างกันระหว่างพระที่ยังไม่ผ่านการใช้กับพระที่ผ่านการใช้แล้วกล่าวคือ พระที่ยังไม่ได้ผ่านการใช้ (ไม่ผ่านการสรงน้ำอุ่น) จะมีกลิ่นมะลิตุ่นๆ ที่เกิดจากส่วนผสมของดอกมะลิแห้งที่บดผสมกับน้ำมันตังอิ้วหรือน้ำอ้อย เมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง กลิ่นตุๆ จะค่อยๆหายไป เนื่องจากถูกกลบด้วยกลิ่นไอของเหงื่อที่ทำปฏิกิริยากับเนื้อพระ หรือถูกล้างด้วยน้ำอุ่น

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งในการสังเกตธรรมชาติของพระสมเด็จวัดระฆัง นอกจากจะมีมวลสารและส่วนผสมครบแล้ว แทบทุกองค์ ในส่วนของผิวพระแม้จะเป็นส่วนเรียบมัน แต่ส่วนผิวหน้าจะดูขรุขระ สูงต่ำ บางแห่งมีการยุบตรงก้อนมวลสาร มีความย่น มีรอยแยก รอยแตก (รากผักชี) มีรอยยาวหรือเส้นวาสนาตามเส้นซุ้ม มีรอยเว้าม้วนตัวในบริเวณซอกแขนและเส้นซุ้ม และบางองค์จะมีคราบน้ำปูนสีขาวอยู่บนผิวพระ ซึ่งธรรมชาติของพระเลียนแบบ (ปลอม) ไม่สามารถทำได้ นอกจากนั้น ด้านข้างขององค์พระ มักจะปรากฏรอยปริแยกค่อนมาทางด้านหน้าขององค์พระ เนื่องจากการตัดขอบ เซียนบางท่านบอกว่า เกิดจากการตัดขอบด้วยตอกจากด้านหลังไปด้านหน้า โดยการทำเครื่องหมายหรือตำแหน่งในการตัดขอบไว้ในแม่พิมพ์ด้านหลัง อย่างไรก็ตาม ความจริงข้อนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ

❋❋ฉะนั้นผู้เขียนจึงขอแย้งและขอเสนอความจริงอีกด้าน❊❊กับผู้อ่าน ด้วยเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และจากประสบการณ์ในการสอนวิชาประติมากรรมและเซรามิกในมหาวิทยาลัยมานาน ขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด การทำแม่พิมพ์สำหรับหล่องานต่างๆ นั้น จะต้องทำเบ้าพิมพ์ในลักษณะลึกและมองเห็นกลับด้าน ในการหล่อแบบพระพิมพ์สมเด็จนั้นก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ แกะเป็นร่องลึกลงไปประมาณครึ่งเซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยม หลังจากหล่อองค์พระในเบ้าพิมพ์แล้ว เวลาจะตัดขอบแม้จะทำเครื่องหมายไว้ ท่านก็ไม่สามารถใช้ของมีคมโดยเฉพาะตอกตัดตามความยาวลงไปในแม่พิมพ์ขณะที่ยังไม่ได้เคาะเอาองค์พระออกมาได้ เนื่องจากจะติดขอบของเบ้าพิมพ์ หรือหากแม้จะทำได้ การที่ใช้คมของเส้นตอก ซึ่งแน่นอนมันต้องมีความหนาพอสมควร เวลาตัดมันจะกดทับเป็นเส้นร่องหนาตามขนาดของเส้นตอก มันจะดันเนื้อพระไปทุกทิศทาง ในเมื่อพิมพ์มันเป็นเบ้า เนื้อพระมันจะดันไปด้านข้างได้อย่างไร มันจะเกิดการบิดเบี้ยว ปูดโปน และเนื้อพระที่หมาดก็จะติดขึ้นมากับเส้นตอกด้วย แล้วมันจะสวยงามได้อย่างไร ส่วนหลักความจริงทางด้านวิชาการนั้น เมื่อกดเนื้อพระลงไปในเบ้าจนหมาดแล้ว จึงเคาะเอาพระออกมาจากแม่พิมพ์ แล้วจึงใช้ของมีคมหรือเส้นตอกตัด เวลากดตอกลงไปผิวด้านหน้าจะต้องโดนน้ำหนักก่อน จึงทำให้ผิวหน้ายุบลงไปด้วย เมื่อกดลงไปถึงด้านหลังซึ่งติดกับแผ่นกระดานหรือแผ่นระนาบ แรงกดของตอกก็จะเบาลง เมื่อดึงตอกออกมา โดยธรรมชาติเราต้องดึงเฉียงออกมาด้านข้าง เนื้อพระบางส่วนก็จะติดขึ้นมากับเส้นตอกตามแรงดึง ส่วนรอยแยกปริด้านข้างค่อนมาทางด้านหน้าขององค์พระนั้น จึงเกิดจากน้ำหนักของแรงกด ส่วนด้านหลังเนื่องจากไม่สามารถตัดทะลุลงไปได้ทั้งหมด เนื่องจากติดแผ่นรอง จึงทำให้เนื้อบางส่วนยังติดเกินอยู่ในขอบด้านหลัง ซึ่งผู้เขียนยังไม่เคยเห็นมีเนื้อพระเกินที่ขอบข้างด้านหน้า ผู้เขียนจึงขออ้างตามหลักวิชาการ ผู้อ่านจึงต้องใช้ดุลพินิจของตัวเอง หรือจะตัดเรื่องนี้ออกไปเสีย ขอแค่ว่ามันมีรอยปรินี้ก็น่าจะพอแล้ว

ภาพคราบปูนและรอยปริแยกด้านข้างของพระสมเด็จวัดระฆัง  

การพิจารณาธรรมชาติด้านหลังขององค์พระ ก็เป็นจุดสำคัญอีกประการหนึ่งในการดูพระแท้ ซึ่งบางคนอาจจะดูด้านหลังก่อนด้านหน้าก็ได้ รอยด้านหลังจะเกิดจากการใช้วัสดุในลักษณะต่างๆ อาจจะเป็นแผ่นไม้กระดาน แผ่นไม้ตอก หรือวัสดุแบนๆ ปาดให้พอดีกับระนาบของแม่พิมพ์ การเกิดรอยต่างๆ จะเป็นไปตามลักษณะของวัสดุและแรงกดในการปาดไม่เท่ากัน ลักษณะที่พบกันมากได้แก่ หลังเรียบ หลังกระดาน หลังกาบหมาก หลังเป็นร่องและรอยแยก หลังขรุขระ หลังสังขยา หลังปริข้าง หลังกระสอบ หลังมีก้อนมวลสาร ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีจุดที่ควรพิจารณาก็คือ ความห่างของโมเลกุล รอยรากผักชี เส้นใยแมงมุม รอยปูไต่หรือเส้นที่เกิดจากการครูดคล้ายๆ รอยโซ่ ซึ่งยังไม่ทราบว่ามันเกิดจากอะไร

การลงรักและปิดทอง เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนชาติเอเชีย เพื่อใช้รักษาวัสดุหรือเครื่องใช้ให้คงทนถาวรและสวยงาม ปราชญ์โบราณรู้จักนำเอายางรักมาใช้ในการเคลือบและตกแต่งผิวของวัตถุหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุประเภทต่างๆ เช่น ไม้ เครื่องจักสาน หนัง ผ้า โลหะ เครื่องปั้นดินเผา หิน หรือใช้ในงานประเภทประณีตศิลป์ มัณฑนศิลป์ และวิจิตรศิลป์ เป็นต้น เมื่อยางรักแข็งตัวแล้วจะมีคุณสมบัติป้องกันน้ำซึม และทนต่อสภาพของดินฟ้าอากาศ

"รัก" เป็นชื่อยางไม้ชนิดหนึ่งเป็นวัสดุที่ได้จาก "ต้นรัก" (melanorrhoea usitata) ต้นรักเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม การนำยางรักจากต้นรักมาใช้ ทำด้วยการกรีดหรือสับด้วยมีดที่ลำต้นให้เป็นรอยยาว ยางรักจะไหลออกมาตามรอยที่กรีดหรือสับนั้น นำภาชนะมารองรับน้ำยางรักคล้ายๆ กับการกรีดยางพารา ส่วนรักที่นำมาใช้ทาเพื่อรักษาเนื้อพระสมเด็จนั้น นิยมนำเอารักที่เรียกว่า "รักน้ำเกลี้ยง"

รักน้ำเกลี้ยง คือ รักดิบที่ผ่านการกรองและได้รับการซับน้ำเรียบร้อยแล้ว เป็นน้ำยางรักบริสุทธิ์ จึงเรียกว่า รักน้ำเกลี้ยง พระสมเด็จที่ลงรักน้ำเกลี้ยงส่วนใหญ่จะมีสีดำปนแดงที่เรียกว่า "รักสีเลือดหมู" และมักเคลือบติดแน่นกับเนื้อพระ ล้างออกยาก ส่วนพระที่ลง "รักแดง" นั้น เป็นรักน้ำเกลี้ยงผสมด้วยสีแดงชาดของจีน ส่วนการลงรักปิดทองก็เป็นที่นิยมกล่าวคือ อาจใช้วิธี "รักเกลี่ย"

รักเกลี่ย คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุกถ่านใบตองแห้งป่น บางทีเรียกว่า สมุกดิบ ใช้ทาบนผิวพระก่อนปิดทองคำเปลว หรืออาจใช้ "รักเช็ค"


รักเช็ด คือ รักน้ำเกลี้ยง นำมาเคี่ยวบนไฟอ่อนๆ เพื่อไล่น้ำให้ระเหยออกมากที่สุด จนได้เนื้อรักข้นและเหนียวจัด สำหรับใช้แตะ ทา หรือเช็ดลงบนพื้นบางๆ เพื่อปิดทองคำเปลว ซึ่งคนไทยนิยมลงรักปิดทองในพระพิมพ์และพระเครื่องมาตั้งแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม การลงรักปิดทองในพระสมเด็จนั้น ส่วนใหญ่เราจะดูความเก่าของรักและทองคำเปลวเป็นหลัก กล่าวคือ หากเป็นการลงรักปิดทองส่วนใหญ่จะเป็นรักสีดำและมีความเก่า อีกทั้งหลุดลอกได้ง่ายกว่าพระที่ลงรักน้ำเกลี้ยงที่มีสีออกน้ำตาล รักน้ำเกลี้ยงจะล้างออกยาก อีกทั้งมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ติดแนบเนื้อและมีความมันวาว อนึ่ง ผู้เขียนพบพระสมเด็จบางองค์ลงรักปิดนากอีกด้วย ซึ่งพบน้อยมาก

ขอขอบคุณ๊ ข้อมูล ที่มา:https://thamasenapakdee.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น: