วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การสอนโดยวิธีการล้างสมอง (Brainwashing)

ผลของการสอนทำให้เกิด “การเรียนรู้” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่จัดให้จากกระบวนการสอน “การล้างสมอง” เป็นวิธีการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเช่นกัน

การสอนด้วยวิธีการล้างสมองนิยมใช้กับการปลูกฝังความเชื่อทางศาสนา ลัทธิการเมือง การขายสินค้า การทำสงคราม และการสร้างอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้กับวัตถุ หรือ บุคคล เป็นต้น

การล้างสมอง ไม่เหมือนการล้างจาน หรือ การซักผ้า ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความสะอาดเอี่ยม ไม่มีสิ่งสกปรกหลงเหลือ แต่การล้างสมองเป็นการปลูกฝังความคิด ความเชื่อ และความศรัทธา จนเกิดเป็นค่านิยม บุคลิกภาพ และนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมตามความคิด

การล้างสมอง เป็นคำที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบและใช้ในประเทศที่มีระบบการปกครองตรงข้ามกับระบบเสรีประชาธิปไตยในยุคสงครามเย็น สำหรับในประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตยนิยมใช้คำว่า “การควบคุมจิตใจ” หรือ Mind Control นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้มีความหมายใกล้เคียงกัน ได้แก่ Coercive Persuasion และ Thought Control รวมทั้ง Thought Reform เป็นต้น

การล้างสมอง เป็นเทคนิควิธีทางจิตวิทยา ที่นำมาใช้เพื่อปรับแนวความคิดของบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบหรือแบบแผนที่ได้กำหนดไว้ คำว่า "Brainwashing" นี้ได้มาจากภาษาพูดในภาษาจีนที่เขียนตามคำอ่านว่า สี-เหน่า (แปลว่า ล้างสมอง) การล้างสมองที่ใช้ในประเทศจีนจะดำเนินการโดยให้มีการสารภาพความผิดเสียก่อนแล้วจากนั้นก็จะมีการใช้กระบวนการให้การศึกษาใหม่ วิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดผลในการล้างสมองแก่บุคคลนั้นก็จะมีการใช้วิธีรุนแรงและผ่อนปรนผสานกันไป หรือจากเบาไปหาหนัก และจะมีการสลับด้วยการใช้วิธีการ บังคับ ขู่เข็ญ ให้คุณและให้โทษทั้งทางร่างกายและทางจิตใจอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ละทิ้งความคิด ความเชื่อแบบเก่านั้นเสียก่อนแล้วจึงสร้างความคิดแบบใหม่ใส่เข้าไปไว้แทน อาจเรียกว่าเป็นการปลูกถ่ายความคิดก็ได้

การสอนโดยวิธีการล้างสมองนี้ ได้ถูกนำไปใช้สอนมวลชนชาวจีนในช่วงหลังปี ค.ศ. 1949 ที่คอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองในประเทศจีนแล้ว ในช่วงสงครามเกาหลีคนจีนได้ล้างสมองเชลยศึกอเมริกันได้สำเร็จในบางราย มีเชลยศึกอเมริกันบางรายประกาศเลิกจงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา ได้สารภาพบาปที่ได้ก่ออาชญากรรมสงคราม และคนกลุ่มนี้ก็ได้เลือกที่จะขอลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนแทนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศสหรัฐอเมริกา และในช่วงที่เกิดความขัดแย้งในสงครามเกาหลี โดยเกาหลีเหนือนำวิธีการนี้ไปสอนเยาวชนของประเทศเกาหลีเหนือตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1960 จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้อยู่แต่ลดระดับความเข้มลงไปบ้าง

การล้างสมองที่ใช้เป็นเทคนิควิธีสำหรับปรับค่านิยมใหม่ให้แก่บุคคลและเพื่อเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีของบุคคลนี้ยากที่จะประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะเป็นกระบวนการที่สร้างให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ซึ่งมีความซับซ้อนในโครงสร้างความคิดอย่างมาก แม้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางสงครามจิตวิทยาบางรายมีความเชื่อว่า การล้างสมองนี้สามารถใช้อย่างมีประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางด้านอุดมการณ์มากยิ่งกว่าในการเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีต่อชาติของบุคคล


วิธีการสอนแบบล้างสมอง

การสอนโดยวิธีการล้างสมองนิยมใช้กับการปลูกฝังความเชื่อทางศาสนา ลัทธิการเมือง การขายสินค้า และสร้างอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้กับวัตถุ หรือ บุคคล เป็นต้น การสอนโดยวิธีการล้างสมองมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

1. ทำการศึกษาผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายเพื่อหาจุดอ่อนไหวร่วมกัน แล้วทำการให้ข้อมูลใหม่หรือความคิดใหม่ ที่ขัดแย้งกับข้อมูลเดิมหรือความคิดเดิมที่อ่อนไหวซึ่งผู้เรียนไม่แน่ใจในข้อมูลหรือความคิดเดิมมากนัก ถึงแม้ข้อมูลหรือความคิดใหม่ที่ให้จะไม่เป็นความจริงหรือถูกต้องทั้งหมดก็ตาม โดยพยายามสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับข้อมูลหรือความคิดใหม่นั้นให้กับผู้เรียนก่อนเป็นอันดับแรกด้วยกลอุบายต่าง ๆ แม้แต่การแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ทั้งที่มีจริงหรือใช้กระบวนการทางจิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ มายากล รวมทั้งใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่คนส่วนมากไม่รู้จักจัดกระทำให้เกิดขึ้นก็ตาม

2. ไม่เปิดเผยจุดประสงค์ที่แท้จริงในการสอน ให้ใช้การแสดงออกของผู้เรียนบางคนที่พร้อมรับการตอบสนองกับข้อมูลหรือความคิดใหม่ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะมีบุคคลประเภทนี้ปะปนอยู่ในกลุ่มเสมอแม้จะไม่ได้มีการจัดกระทำเตรียมไว้ก็ตาม โดยใช้คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของข้อมูลใหม่หรือความคิดใหม่ เพื่อนำเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยรวมหรือผู้เรียนที่เหลือ

3. ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอันเป็นที่เป็นที่มาของเรื่องราวหรือเนื้อหาที่สอนในมิติที่แตกต่างไปจากที่ผู้เรียนเคยได้รับรู้หรือเรียนรู้มา เพื่อเสริมการนำเสนอข้อมูลหรือความคิดใหม่ที่ให้กับผู้เรียน ในขั้นนี้ต้องแสดงความขัดแย้งของข้อมูล และเสนอทางเลือกให้ โดยการโน้มน้าวจากข้อมูลใหม่ให้เห็นคล้อยตาม แต่จะยังไม่บังคับ ขู่เข็ญ ลงโทษในทันที ให้เริ่มใช้มาตรการขั้นเบาก่อน แล้วจึงเริ่มกดดันให้รับความคิดใหม่หรือความเชื่อใหม่ด้วยกระบวนการกลุ่มและอิทธิพลของกลุ่ม ตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก

4. สรุปบทเรียนด้วยการสร้างเป็นหลักการ หรือทฤษฎี ที่ง่ายกับการจดจำเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในข้อมูลหรือความคิดใหม่โดยเน้น ข้อดี ตามที่ต้องการมากกว่า ข้อเสีย ที่ไม่ต้องการให้นำไปใช้และแสดงให้เห็นว่าการยอมรับความคิดใหม่เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง ถ้าเลือกแตกต่างออกไปจะมีปัญหาในการทำกิจกรรม หรืออยู่ร่วมกับหมู่คณะ ในขั้นนี้อาจมีผู้เรียนบางคนที่ต้องออกไปเพราะไม่สามารถยอมรับได้ ถือเป็นสิ่งปกติ และไม่แสดงการขัดขวางอย่างรุนแรง

5. ทำการเลือกสัญลักษณ์ คำพูด หรือรหัสสำหรับการนำไปใช้ โดยให้สามารถสัมผัสได้ หมายถึง ทำให้นามธรรมจากการสรุปบทเรียนนั้น เป็น “รหัส” ที่มองเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสได้ด้วยผัสสะปกติของมนุษย์ เพื่อที่จะสามารถถอดรหัสออกมาใช้ได้ตลอดเวลา และรวมถึงเป็นการสร้างความเป็นพวกเดียวกันให้กับผู้อื่นที่มีความคิดเหมือนกัน เพิ่มความเข้มแข็งให้กับพลังของกลุ่มหรืออิทธิพลของกลุ่ม

ทำไมต้องใช้วิธีการล้างสมอง

ผลของการสอนทำให้เกิด “การเรียนรู้” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่จัดให้จากกระบวนการสอน “การล้างสมอง” เป็นวิธีการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเช่นกัน

การใช้วิธีการล้างสมองในการสอนนั้นเป็นวิธีการที่เป็นอยู่จริง มีการใช้จริง และมีผลเกิดขึ้นอยู่แล้วจริง จึงถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลถึงแม้จะเป็นวิธีการที่มีภาพลบของคำว่า “ล้างสมอง” แต่สาระสำคัญนั้นอยู่ที่การปลูกฝังสิ่งใหม่ให้กับผู้เรียน ซึ่งการกระทำเพื่อปลูกฝัง เผยแพร่ความคิดใหม่หรือให้ข้อมูลใหม่ที่ลบล้างความคิดเดิมหรือข้อมูลเดิมดังกล่าวนั้นมีการดำเนินการอยู่เป็นปกติวิสัย แต่ในโลกเสรีประชาธิปไตยอาจเลือกใช้ วาทกรรม และใช้คำพูดที่ให้ความรู้สึกทางบวก มากกว่าเท่านั้น

มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า สื่อ โทรทัศน์ เป็นสื่อสำคัญที่ใช้สำหรับการล้างสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมการบริโภคของแม่บ้านในการเลือกจับจ่ายสินค้า การเผยแพร่ศาสนา การโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิต่าง ๆ จึงหันมาใช้สื่อโทรทัศน์ในการนำเสนอความคิดหรือข้อมูลให้กับประชาชนมากกว่าดำเนินการสอนศาสนาหรือความเชื่อเฉพาะในสถานที่เท่านั้น

การสร้างกลุ่มมวลชนให้มีความคิดเหมือนกัน ยึดมั่นในอุดมการณ์เดียวกัน เข้าใจตรงกันเป็นพลังที่สำคัญสำหรับการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม การใช้วิธีการล้างสมองจะสามารถสร้างมวลชนให้ยึดมั่นอยู่กับกลุ่มได้คงทนและ ทุ่มเท เสียสละให้กับกิจกรรมของกลุ่มความคิดได้มากกว่า ยาวนานกว่าวิธีการสอนทั่วไปเพราะสามารถเข้าถึงจิตใจ หรือควบคุมจิตใจมวลชนได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ผ่านการล้างสมองของลัทธิบางลัทธิสามารถทำกิจกรรมได้ทุกประการเพื่อลัทธิของตนอย่างไม่เกรงกลัว

พลังของสมองและพลังของความคิดแบบนี้จึงมีพลังมากและคงทน นักการศึกษาสามารถประยุกต์และนำข้อดีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนการสอนได้ และเชื่อว่าวิธีการนี้จะสามารถสร้างคนที่มีพลังความคิด ความสามารถไปในทางดีงามหรือทางบวกได้เช่นเดียวกัน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรปรับนำมาใช้ ถึงแม้จะเป็นเสมือนดาบที่แหลมคม แต่ถ้านำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และควบคุมให้ดี ก็จะมีประโยชน์มากเช่นกัน

การหลีกเลี่ยงการถูกล้างสมอง

เมื่อเกิดความรู้สึกว่า ตนเองกำลังถูกล้างสมอง ตามกระบวนการขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น และพิจารณาเห็นว่าข้อมูลใหม่หรือความคิดใหม่ยังไม่ตรงกับความต้องการให้ทำการหลีกเลี่ยงโดยพิจารณาและดำเนินการต่อไปนี้

1. พึงตระหนักว่า การล้างสมองเป็นวิธีและกระบวนการสอนอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่หลอกลวง แต่เป็นกระบวนการและวิธีการที่มีอยู่จริงและเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถทดลองและพิสูจน์ได้ ผู้ที่อยู่ในกระบวนการล้างสมองไม่ใช่เฉพาะคนที่โง่ สมองไม่ดี หรือถูกหลอกง่ายอย่างที่เข้าใจกัน ถึงแม้คนฉลาด อัจฉริยะ ก็อยู่ในกระบวนการล้างสมองหรือถูกล้างสมองได้ ดังนั้นคนดี คนเก่ง และน่านับถือในสายตาของคนทั่วไปจึงถูกล้างสมองได้เช่นกัน คนสมองดีเสมือนเป็นดินที่ดี เอาต้นไม้อะไรไปปลูกก็งอกงามดี การล้างสมองเป็นการเอาต้นไม้เดิมออกและปลูกต้นไม้ใหม่ เป็นต้นไม้ความคิด เมื่อไปอยู่กับดินที่ดีหรือคนสมองดี จะมีพลังมาก

2. เมื่อได้รับการสอนหรือเชิญชวนในลักษณะที่แปลก ๆ อย่าใช้ตรรกศาสตร์ หรือความคิดเชิงเหตุผลมากนัก ใช้ความรู้สึกของตนเองให้มากขึ้น เพราะกระบวนการล้างสมองใช้หลักตรรกศาสตร์ที่เหนือกว่า ดีกว่าเสมอ ให้เลือกรับข้อมูลตามความรู้สึก หรือใช้สามัญสำนึกทั่วไปก่อนในอันดับแรก

3. อย่าคล้อยตามหรือชื่นชมในกิจกรรมต่าง ๆ และอย่าทำตัวเป็นฟองน้ำที่ซึมซับทุกอย่างที่ผู้ต้องการล้างสมองนำเสนอ ให้หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมจากกลวิธีต่าง ๆ

4. แสวงหาข้อเท็จจริงรายรอบที่เป็นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ไม่เฉพาะในสาระที่ผู้ต้องการล้างสมองนำเสนอเท่านั้น ในการแสวงหาข้อเท็จจริงจะพบประเด็นที่ชัดเจนในมูลเหตุของการจูงใจของผู้ต้องการล้างสมอง และในขั้นนี้จะพบอีกว่าเป็นการสร้างความรู้สึกให้ท่านคล้อยตามมากกว่าการให้ข้อมูลที่แท้จริง หรือการใช้ความคิดเชิงเหตุผล ดังนั้นความรู้สึกท่านจึงนำมาใช้ต่อสู้กับความรู้สึกของผู้ต้องการล้างสมอง ไม่ใช่การใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว เพราะกระบวนการของการล้างสมองมักจะนิยมให้ข้อมูลเท็จหรือจริงเพียงบางส่วน (ดูข้อที่ 1 ของวิธีการล้างสมอง)

5. หาคำตอบ เหตุผล และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังสำหรับผู้ที่คล้อยตามหรือชื่นชมกับการนำเสนอของผู้ล้างสมอง กระบวนการกลุ่มและอิทธิพลของกลุ่มซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยบุคคลที่ท่านนับถือท่านไม่ต้องทำตามกลุ่มเหล่านั้น เพราะเขาเหล่านั้นได้ถูกล้างสมองไปแล้ว ท่านจะเป็นผู้ที่ก้าวออกมาและหลุดพ้นจากกระบวนการล้างสมองได้อย่างสบายใจ

ความสำคัญจึงอยู่ที่ ต้องมีความสบายใจและมั่นใจกับการก้าวออกมาจากกระบวนการล้างสมอง และสามารถตอบโต้กับการคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้วาทกรรม กระบวนการกลุ่ม รวมทั้งอิทธิพลของกลุ่มได้อย่างฉลาด องอาจ กล้าหาญ และปลอดภัย

สรุป

การสอนโดยวิธีการ “ล้างสมอง” ของความเชื่อในเรื่องพระเครื่อง พระบูชา เพื่อสร้างมูลค่าในกลุ่มสินค้าของตนเอง หรือการล้างสมองในคำสอนในพุทธศาสนา ให้มีความเชื่ออีกแบบ ที่มองไม่เห็น เช่นปาฏิหาริย์ การสร้างบุญด้วยเงินจำนวนมากได้บุญมาก ทำบุญมากขึ้นสวรรค์ ล้างกรรมชั่วได้ฯลฯ
แต่การล้างสมอง เพื่อให้คนเปลี่ยนความเชื่อเดิมมักนำเอาคำสอนในพุทธศาสนามาเป็นส่วนในขบวนการชักชวน เปลี่ยนความคิดเสียใหม่

 ดังนั้น คำสอน ในพุทธศานา ทำให้เราสามารถไม่ถูกล้างสมอง หลงเดินทางไปในทางที่ผิด

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงศรัทธาแล้วต้องมีปัญญากำกับอยู่ในหลักธรรมนั้นเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อมีความเชื่ออย่างเดียวโดยไม่มีปัญญาก็จะเป็นความเชื่อที่งมงาย (Blind Faith) ปราศจากเหตุผล (Cause and Effect) และการพิสูจน์ เพราะฉะนั้นความเชื่อจึงเป็นลักษณะความรู้แบบหยาบๆ โดยไม่ผ่านการเจียระไนทางความคิดหรือไม่ผ่านการไตร่ตรองด้วยโยนิโสมนสิการ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเรื่องศรัทธาไว้ที่ไหนก็จะมีปัญญามาพร้อมด้วยทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เชื่อเกิดความงมงาย หลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ในเรื่องของความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา พุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในหลักกาลามสูตร ดังที่ปรากฎในเกสปุตตสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต แต่คนส่วนมากมักจะเรียกว่ากาลามสูตร(องฺ.ติก. 20/505/212) ซึ่งเป็นพระสูตรสำคัญที่พระพุทธเจ้าแสดง ณ เกสปุตตนิคม มีใจความสรุปว่า


เกสปุตตะเป็นนิคมแห่งหนึ่งในแคว้นโกศลชาวนิคมนี้เป็นที่รู้จักกันว่าชาวกาลามะ เมื่อชาวกาลามะได้สดับว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมายังนิคมของตน จึงมาเฝ้าพระองค์เพื่อขอคำแนะนำและกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้นพูดประกาศแต่เฉพาะทรรศนะของตนเท่านั้น ส่วนทรรศนะของผู้อื่น ช่วยกันตำหนิ ดูหมิ่น ประณาม ทำให้ไม่น่าเชื่อ สมณพราหมณ์พวกอื่นๆซึ่งมายังเกสปุตตนิคมก็ทำในลักษณะเดียวกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ”พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย ถูกแล้วที่ท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ควรเคลือบแคลงสงสัย มาเถิด ท่านทั้งหลาย

1. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
2. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะถือสืบๆกันมา (มา ปรมฺปราย)
3. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะเล่าลือ (มา อิติกิราย)
4. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะอ้างตำราหรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
5. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
6. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะคาดคะเน (มา นยเหตุ)
7.อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะตรึกตามอาการ (มา อาการปริวิตกฺเกน)
8. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะเข้ากันได้กับความเห็นของตน (มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
9. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะผู้พูดสมควรเชื่อได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
10. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครุ)

เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ไม่เป็นประโยชน์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละสิ่งเหล่านั้นเสีย แต่ในกรณีตรงกันข้าม เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล ไม่มีโทษ ผู้รู้สรรเสริญ เป็นประโยชน์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรปฏิบัติสิ่งเหล่านั้น


ที่มาบางส่วนของบทความ :https://www.thairath.co.th/content/90811  และ
https://www.cybervanaram.net

ไม่มีความคิดเห็น: