พระสมเด็จวัดระฆัง ลงรักน้ำเกลี้ยง
โดยธรรมดา พระที่พิมพ์ดี แต่เนื้อหายังดีไม่พอ...ภาษาวงการพระว่า จัดไม่พอ อย่างนี้ เซียนมักเมิน
แต่ธรรมชาติองค์พระทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง รวมทั้งเศษรักชิ้นเล็กด้านหน้า และเนื้อรักปื้นใหญ่ด้านหลัง คนเป็นพระสมเด็จ ดูได้ไม่ยากว่าเป็นพระแท้
จุดตัดสินใจได้ว่า แท้ ก็อยู่ที่หลักฐานสำคัญ คือ “รัก”
รักพระสมเด็จนั้น ผู้รู้บอกว่า มีสองชนิด รักน้ำเกลี้ยง บาง...สีแดงเลือดหมู กับรักน้ำดำ ...หนาและดำ
รักน้ำเกลี้ยง ว่ากันว่ามาจากเมืองจีน รักน้ำดำ ก็ว่ากันว่า รักเมืองไทย มาจากทางภาคเหนือของไทย
นี่คือ เรื่องรัก ที่ผู้รู้ว่า...แต่ความจริงที่ประจักษ์ตา จากภาพพระแท้...ที่ถ่ายชัดขยายใหญ่...ในหนังสือพระเครื่องสมัยนี้ ค่อยๆดูให้ดีๆ ดูอย่างพิจารณา ก็จะเห็นเป็นอีกเรื่อง
รักที่เหลืออยู่ในองค์พระ เป็นปื้นหนานั้น เห็นชัดเป็นสีดำ แต่ถ้าเป็นรักที่ลงบาง ก็จะเห็นเป็นสีแดงเลือดหมู ทำให้คิดได้ว่า รักน้ำเกลี้ยง และรักน้ำดำ เป็นรักเดียวกัน สีที่เห็นต่าง มาจากความบางความหนา..
.
แต่สิ่งที่เห็นได้อีก...ก็คือ แม้รักที่หลุดล่อนไปเอง หรือถูกล้างออกอย่างตั้งใจ
เนื้อพระจะดูดซับ เยื่อ–ยาง สีแดงจางๆ เอาไว้
สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในตำนาน อย่างองค์ขุนศรี ที่เห็นเป็นสีแดงฉาบบางๆทั้งองค์ นั่นแหละ ยางรัก หลายองค์ยางรักเหลือบ้าง หนาบาง ไม่เท่ากัน
ความลับ...ที่อยากปิดไว้ แต่ปิดไม่มิด ใครเคยมีประสบการณ์ ล้างพระที่สกปรกคร่ำคร่า ก็จะพบว่า ทันทีที่พระเจอน้ำอุ่น ผิวที่ขาวอมเหลืองธรรมดา ก็จะปรากฏยางรักสีแดงเลือดหมู โผล่ออกมานอกผิว
พอน้ำแห้ง เมื่อผิวขาว หรือผงแป้งโรยพิมพ์โผล่ขึ้นมา ยางรักก็มักจมหายไป
นี่เป็นทีเด็ด...เคล็ดลับ ยืนยันความเป็นพระสมเด็จแท้ได้อีกประการหนึ่ง
และทีเด็ด ที่จริงก็เป็นธรรมชาติอีกประการของพระสมเด็จแท้...ส่องให้ดี เศษรักที่ติดด้านหน้า มักติดอยู่กับหลุม ร่อง และที่เม็ดปูนขาว (วงการเรียกก้อนขาว)
รักในหลุม ร่อง เอาออกยาก แต่รักที่แปะติดอยู่กับเม็ดปูนขาว ความที่เม็ดปูนขาวไม่ได้ผสมเข้ากับน้ำมันตังอิ๊ว จึงดูดซับเนื้อรักว่าแน่นหนักกว่าเนื้อพระทั้งองค์ ดูให้ดี บางตำแหน่ง ทองยังติดอยู่
ที่ผู้รู้บางท่านบอกว่า เนื้อพระสมเด็จ มีแร่ทรายเงิน แร่ทรายทอง นั้นก็จริง แต่บางจุดที่เห็นรัศมีสีทอง ไม่ใช่ทรายเงินทรายทองทั้งหมด แต่เป็นจุดที่รักทองติดอยู่กับเม็ดปูนขาวเท่าหัวเข็มหมุด
ส่องพระสมเด็จ ที่ส่องกันจนเพลิน ลืมกินข้าวปลา ก็เพราะในผิวพื้นเนื้อพระสมเด็จ มีความลึกความลับ ซ่อนให้ค้นหาอยู่มากมาย ประดาซิ่งเหล่านี้
ได้พื้นฐานความรู้เรื่องรักไว้บ้างแล้ว ทีนี้หันไปดูด้านหลังสมเด็จองค์ในภาพอีกที ปื้นรักติดหนา ขอบพระหลุดล่อนไปบ้าง ตรง กลาง มองเห็นความพยายามลอกรัก...แต่ลอกไม่ออก
เนื้อรักส่วนที่เหลือมาก ผ่านการสัมผัสเสียดสี จนกลายเป็นสีใบไม้แห้ง...ส่วนที่ลึกลงไป พอส่องเห็นสีรัก แบบรักน้ำดำ...ที่มีความเก่า กลมกลืนไปได้กับเนื้อพระ
รักสภาพนี้ ดูแล้วไม่งามตา แปลกกว่ารักสมเด็จแท้ทั่วไป แต่หากจะลอกทิ้ง ก็เท่ากับทิ้งหลักฐานสำคัญ
พิมพ์ดี แต่เนื้อไม่สว่างกระจ่างใสก็ได้รักนี่แหละเป็นตัวช่วย...รักเก่านั้น ท่านก็มักอยู่กับพระเก่า...ถ้าไม่มีรัก มีคนดูว่าพระไม่เก่า กลายเป็นพระเก๊ขึ้นมา ก็จะเสียใจไปนาน.
ที่มา : พลายชุมพล ไทยรัฐ
พระสมเด็จตัดสินด้วย...รัก
โบราณอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงด้านพระสมเด็จโดยตรง ในแต่ละวันได้พิจารณาตรวจสอบองค์พระสมเด็จหลายๆ องค์ ก็จะสามารถสันนิษฐานได้ว่าพระสมเด็จองค์นั้นเป็นพิมพ์อะไร แต่หากมีรักเป็นองค์ประกอบแล้ว การที่จะชี้ชัดลงไปว่าแท้หรือไม่นั้น คงจะต้องกลับมาพิจารณาจากสภาพ "รัก" เป็นหลักเช่นกัน ภาษาทางวงการพระเรียกว่า "ซื้อเสี่ยง" เพราะไหนจะต้องเสี่ยงว่าเก๊หรือแท้ ชำรุด-หัก-ซ่อม-บิ่นหรือไม่ อีกทั้งยังไม่สามารถมองเห็นความสมบูรณ์ ความลึก ความคมชัดสวยงามขององค์พระได้ชัดเจน ดังนั้นส่วนใหญ่จึงมักใช้วิธีการล้างรักหรือถอดรักจากองค์พระสมเด็จ ในกรณีการล้างรักนี้จะยกเว้นสำหรับพระสมเด็จที่ "ลงรักน้ำเกลี้ยง" เพราะองค์พระยังทรงคุณค่าเช่นเดิม
พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามที่ล้างรักออกแล้ว จะปรากฏรอยรักแตกเรียก "พระแตกลายงา" แต่ไม่ใช่ในเนื้อพระแต่จะเป็นเนื้อราบบนผิวขององค์พระที่แตกออกเหลือไว้แต่เส้นรักเล็กๆ เกาะยึดติดอยู่เท่านั้น ต้องใช้แว่นขยายส่องดู โดยตะแคงองค์พระให้เกือบขนานกับแว่นขยาย จะเห็นเนื้อรักเป็นเส้นดำๆ วางอยู่บนผิวขององค์พระ และขนาดของช่องที่แตกลายงาก็จะมีขนาดเท่ากันทุกองค์ เพราะรักที่จุ่มเป็นรักชนิดเดียวกัน อายุพอๆ กัน ความเก่าการเสื่อมสลายของเนื้อรัก การหดตัวขององค์พระสมเด็จก็ย่อมจะมีลักษณะคล้ายกันด้วย
ที่สำคัญจะพบว่า "การแตกลายงา" นั้นจะปรากฏเฉพาะบริเวณด้านหน้าของพระสมเด็จเท่านั้น ส่วนด้านหลังจะไม่ปรากฏการแตกลายงาหรือมีบ้างเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเมื่อครั้งสร้างพระสมเด็จนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นำผงพุทธคุณในปริมาณที่พอเพียงจะสร้างตามจำนวนที่ตั้งใจไว้มาผสมกับน้ำมันตังอิ๊ว ใช้ครกตำให้ละเอียดและผสมกันจนเหนียวหนึบ ปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาวๆ ขนาดพอเหมาะที่จะกดเป็นพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ใช้ตอกไม้ไผ่มาตัดแบ่งเป็นแท่งๆ เรียก "ชิ้นฟัก" แล้วก็จะนำชิ้นฟักนั้นมาวางคว่ำลงบนแท่นแม่พิมพ์ด้านหน้า และใช้วิธีการกดเนื้อผงพระพุทธคุณกับแม่พิมพ์โดยใช้แผ่นไม้ แล้วใช้ท่อนไม้อีกท่อนค่อยๆ เคาะแผ่นไม้นั้นจนผงพุทธคุณอัดแน่นกับแม่พิมพ์ เพื่อให้องค์พระสมเด็จเต็มแม่พิมพ์และเป็นการไล่อากาศอีกด้วย และด้วยเหตุนี้ทำให้ด้านหน้าขององค์พระมีความชื้นและอมน้ำมากกว่าด้านหลัง
เมื่อนำมาผึ่งพอหมาดๆ แล้วนำมา “จุ่มรัก” น้ำรักจีนจะทำปฏิกิริยากับด้านหน้าซึ่งมีความชุ่มชื้นมากกว่า จึงปรากฏรักเฉพาะด้านหน้าส่วนด้านหลังจะมีรักปลุกคลุมบ้างก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งในการสร้างพระสมเด็จที่ปรากฏลักษณะดังกล่าวเป็นการลงรักที่ทำกันในวัดแทบทั้งสิ้น ดังนั้นพระสมเด็จแท้ที่ทำการลงรักเดิม เมื่อล้างรักหรือถอดรักโดยการทำให้เกิดปฏิกิริยากับสารเคมี ก็จะเกิดการแตกลายงาด้านหน้าทุกองค์
ที่มา:อ.ราม วัชรประดิษฐ์ คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น